ข้อมูลสถานคุ้มครอง

ชื่อหน่วยงาน


สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) จังหวัดนนทบุรี หรือเป็นที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า บ้านราชาวดีหญิง เป็นหน่วยงานในสังกัด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พันธกิจ


  • สงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กพิการให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์
  • ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายตามศักยภาพของเด็กพิการ
  • พัฒนาศักยภาพเด็กพิการให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพของตนเอง
  • สนับสนุนชุมชน เครือข่ายให้มีสวนร่วมในการจัดบริการสวัสดิการทางเลือกแก่เด็กพิการในสถานคุ้มครองฯ

วิสัยทัศน์

 

พัฒนาเด็ก คืนสู่สังคม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

อัตราเจ้าหน้าที่

อัตรากำลังจำนวน
1 ข้าราชการ 7 คน
2 ลูกจ้างประจำ 10 คน
3 พนักงานราชการ 24 คน
4 ลูกจ้างชั่วคราวมูลนิธิ 39 คน
4 ลูกจ้างชั่วคราวกองทุน 11 คน
รวม 91 คน
ข้อมูล ณ 15 พฤศจิกายน 2567
 

ประวัติความเป็นมา

 
สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) จังหวัดนนทบุรี เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2540 โดยแยกออกจากสถานคุ้มครองเด็กพิการทางสมองและปัญญา เนื่องจากเด็กมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เกิดปัญหาความแออัดและยากต่อการดูแลฃ
 
กรมประชาสงเคราะห์(เดิม) จึงอนุมัติให้แยกการดูแลออกเป็นสถานคุ้มครองสำหรับเด็กชาย และเด็กหญิงซึ่งมีความบกพร่องทางสมองและปัญญา
 
ตั้งอยู่เลขที่ 78/15 หมู่ที่ 1 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นที่ดินราชพัสดุโดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 27 ไร่เศษ การก่อสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้รับการบริจาคเงินและการสนับสนุนจากภาคเอกชน องค์กร ตลอดจนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป จึงสามารถเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2540 เป็นต้นมา
 
สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) จังหวัดนนทบุรี มีภารกิจหลักในการให้การเลี้ยงดูเด็กหญิงอายุระหว่าง 7-18 ปี ที่มีความบกพร่องทางสมองและปัญญา โดยจัดให้มีบริการด้านปัจจัยสี่ บริการทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล การสังคมสงเคราะห์การศึกษาพิเศษ ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ เพื่อให้เด็กในความอุปการะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างทัดเทียมกับบุคคลอื่น มีความสุขตามอัตภาพ
 
ปัจจุบันนี้สถานคุ้มครองให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงจำนวน 436 คน (ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567)

เป้าหมาย


  • เพื่อให้เด็กพิการทางสมองและปัญญา ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อสภาพความพิการ และได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายที่ตนพึงมี
  • เพื่อให้การเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตและมีพัฒนาการด้านต่างๆ สมวัย สามารถใช้ศักยภาพภายในตนเองได้อย่างใกล้เคียงบุคคลอื่นในสังคมภายนอก
  • เพื่อให้เด็กได้รับการฟื้นฟูพัฒนาด้านจิตใจ เกิดทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์ สังคม และสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้โดยง่าย
  • เพื่อให้การส่งเสริมด้านการศึกษาเฉพาะทาง ส่งเสริมทักษะทางอาชีพ ตลอดจนช่วยจัดหาอาชีพ และผู้มีอุปถัมภ์ที่เหมาะสมให้กับเด็กที่มีความพร้อม
  • เพื่อติดตามครอบครัว และส่งกลับคืนสู่ความอุปการะของครอบครัว

โครงสร้างองค์กร


ยุทธศาสตร์

  • ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้
  • จัดสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นแก่เด็กพิการทางสมองและปัญญา
  • พัฒนาสถานคุ้มครองฯ ให้เป็นองค์กรที่มีผลสัมฤทธิ์สูงสุด
  • คนพิการมีศักยภาพช่วยเหลือตนเองได้

วัตถุประสงค์


    เพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กพิการทางสมองและปัญญาอายุระหว่าง 7-18 ปี โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • เป็นเด็กกำพร้า ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ไร้ที่พึ่ง ถูกทอดทิ้ง
  • เป็นเด็กเร่ร่อนพลัดหลง ไม่สามารถติดตามบิดามารดา หรือผู้ปกครองได้
  • เป็นเด็กที่ประสบปัญหาครอบครัว เช่น ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่สามารถให้การเลี้ยงดูได้อย่างเหมาะสม บิดามารดาเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นโรคจิตฟั่นเฟือน ฯลฯ
  • เป็นเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมทางสังคม ถูกละเมิดสิทธิต่างๆ อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางปัญญา
  • เพื่อเป็นหน่วยรองรับเด็กหญิงพิการทางสมองและปัญญาทั่วประเทศ ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยการนำส่งของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรการกุศล ตลอดจนครอบครัวของผู้ประสบปัญหาโดยตรง
  • เพื่อพัฒนา ฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
  • เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน บุคคลทั่วไป ให้ยอมรับเด็กพิการทางสมองและปัญญาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม